Web Site Hit Counters

ค้นหาข้อมูลในบล็อก

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ ( Anchored Instruction)

การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ ( Anchored Instruction)
ความหมาย
การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมติ คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการให้ผู้เรียนสวมบทบาทในสถานการณ์จำลองซึ่งมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงและแสดงออกตามความรู้สึกนึกคิดของตน และนำเอาการแสดงออกของผู้แสดง ทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมที่สังเกตพบมาเป็นข้อมูลในการอภิปราย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

ลักษณะของบทบาทสมมุติ
บทบาทสมมุติที่ผู้เรียนแสดงออกแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การแสดงบทบาทสมมุติแบบละคร เป็นการแสดงบทบาทตามเรื่องราวที่มีอยู่แล้วผู้แสดงจะได้รับทราบเรื่องราวทั้งหมด แต่จะไม่ได้รับบทที่กำหนดให้แสดงตามอย่างละเอียดผู้แสดงจะต้องแสดงออกตามความคิดของตน และดำเนินเรื่องไปตามท้องเรื่องที่กำหนดไว้แล้วซึ่งมีลักษณะเหมือนละคร
2. การแสดงบทบาทสมมุติแบบแก้ปัญหา เป็นการแสดงบทบาทสมมุติที่ผู้เรียนได้รับทราบสถานการณ์หรือเรื่องราวแต่เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น ซึ่งมักเป็นสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือมีความขัดแย้งแฝงอยู่ ผู้แสดงบทบาทจะใช้ความคิดของตนในการแสดงออกและแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเสรี

วัตถุประสงค์
1. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมทั้งของตนเองและผู้อื่น
2. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนใช้ความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ
3. เพื่อให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนเจตคติ พฤติกรรมและการปฏิบัติตนในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
4. เพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนในการเรียนรู้ มีโอกาสแสดงออกและได้เรียนอย่างสนุกสนาน
5. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ความรู้ความคิดในการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ
6. เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงออก ได้เรียนด้วยความเพลิดเพลิน
7. เพื่อให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
โดยสรุปวิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะใช้บทบาทเป็นเครื่องมือในการดึงความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ เจตคติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของผู้เรียนออกมาเป็นข้อมูลในการเรียนรู้

องค์ประกอบสำคัญ
1. การกำหนดสถานการณ์สมมุติ หัวข้อเรื่องหรือปัญหา
2. การกำหนดบทบาทสมมุติที่ต้องการพร้อมรายละเอียด
3. การแสดงบทบาทสมมุติ
4. กติกาควบคุมการแสดงบทบาทสมมุติ
5. การอภิปรายที่เกี่ยวกับความรู้ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมแสดงบทบาทสมมุติ
6. การสรุปผลการเรียนรู้
ขั้นตอน
1. ขั้นเตรียมการ
2. ขั้นเริ่มบทเรียน
3. ขั้นเลือกผู้แสดง
4. ขั้นกำหนดตัวผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม
5. ขั้นแสดง
6. ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง
7. ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป
สถานที่
การจัดสถานที่มีหลักที่จะต้องคำนึงถึงอยู่ 2 ประการ
1. ต้องจัดให้เหมาะแก่สภาพการณ์ที่สมมติขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ต้องให้ผู้ดูสามารถมองเห็นการแสดงได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงถ้าหากเป็นการแสดงที่มีการแสดงความรู้สึกของสีหน้าก็ไม่ควรจัดให้ที่แสดงอยู่ไกลจากผู้ดูมากเกินไป
นอกจากนั้นในกรณีที่มีการอภิปรายกันหลังจากการแสดงก็ควรจัดให้ผู้อภิปรายสามารถมองเห็นกันได้ทั่วถึงและได้ยินคำพูดชัดเจนด้วย
การจัดสถานที่สำหรับแสดงหากเป็นไปได้ก็ควรจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเท่าที่จะทำได้เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาและไม่ฉุกละหุกแต่ถ้าไม่สามารถจัดเตรียมล่วงหน้าได้ก็ควรเตรียมอุปกรณ์และคาดการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าให้ดี

วิธีการ
เริ่มต้นด้วยผู้จัดการแสดงอธิบายให้ผู้ดูทราบถึงวัตถุประสงค์ของการแสดงว่ามีอะไรบ้าง ต้องการให้ผู้ดูศึกษาอะไรจากการแสดง โครงเรื่องอย่างคร่าว ๆ สถานที่ที่สมมติขึ้นให้เป็นอะไร ที่ไหน ตัวแสดงจำนวนเท่าไร แต่ละคนมีลักษณะอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะบอกแต่เท่าที่จำเป็นแก่การศึกษาวิเคราะห์เท่านั้น หลังจากนั้นจึงเริ่มการแสดง โดยการแสดงนี้อาจมีการซักซ้อมหรือเตรียมการกันมาล่วงหน้าแล้ว หรือใช้วิธีการเลือกตัวผู้แสดง และบอกรายละเอียดที่จำเป็นแก่การแสดงเดี๋ยวนั้นเองได้ ซึ่งวิธีหลังนี้ส่วนมากจะให้ผู้แสดงแสดงออกตามที่ตนคิด และรู้สึกในบทบาทและสถานการณ์นั้น ๆ เอง โดยไม่มีการกำหนดว่าจะให้แสดงความรู้สึกอย่างไร และไม่มีบทคำพูดก็ได้ ตามปกติการแสดงจะอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 5-10 นาที
หลังจากการแสดงแล้ว ทั้งผู้เล่นและผู้ดูจะร่วมกันอภิปรายสิ่งที่เกิดขึ้นในการแสดง เพื่อตรวจสอบหาทางแก้ หรือวิเคราะห์ปัญหาตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้


เทคนิคและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในการใช้วิธีสอนโดยใช้การแสดงบทบาทสมมติให้มีประสิทธิภาพ
การเตรียมการ
ผู้สอนกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะใช้ชัดเจน และสร้างสถานการณ์และบทบาทสมมติที่กำหนดขึ้นควรมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง ส่วนจะมีรายละเอียดมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ผู้สอนอาจใช้บทบาทสมมติแบบละคร ซึ่งจะกำหนดเรื่องราวให้แสดงแต่ไม่มีบทให้ ผู้สวมบทบาทอาจใช้บทบาทสมมติแบบละคร ซึ่งจะกำหนดเรื่องราวให้แสดงแต่ไม่มีบทให้ ผู้สวมบทบาทจะต้องคิดแสดงเอง หรืออาจใช้บทบาทสมมติแบบแก้ปัญหา ซึ่งจะกำหนดสถานการณ์ที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งให้และอาจให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากบ้างน้อยบ้างซึ่งผู้สวมบทบาทจะใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการแสดงออกและแก้ปัญหาตามความคิดของตน

การเริ่มบทเรียน
ผู้สอนสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้หลายวิธี เช่น โยงประสบการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน หรือประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับจากการเรียนครั้งก่อน ๆ เข้าสู่เรื่องที่จะศึกษา หรืออาจใช้วิธีเล่าเรื่องหรือสถานการณ์สมมติที่เตรียมมาแล้วทิ้งท้ายด้วยปัญหา เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากคิด อยากติดตาม หรืออาจใช้วิธีชี้แจงให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์จากการเข้าร่วมแสดง และช่วยกันคิดแก้ปัญหา

การเลือกผู้แสดง
ควรเลือกให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการแสดง เช่น เลือกผู้แสดงที่มีลักษณะเหมาะสมกับบทบาท เพื่อช่วยให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่นตามวัตถุประสงค์ได้อย่างรวดเร็วหรือเลือกผู้แสดงที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับบทบาทที่กำหนดให้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนคนนั้นได้รับประสบการณ์ใหม่ ได้ทดลองแสดงพฤติกรรมใหม่ ๆ และเกิดความเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้ที่มีลักษณะต่างไปจากตน หรืออาจให้ผู้เรียนเป็นอาสาสมัครหรือเจาะจงเลือกคนใดคนหนึ่ง ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยให้บุคคลนั้นเกิดการเรียนรู้ เมื่อได้ผู้แสดงแล้ว ควรให้เวลาผู้แสดงเตรียมการแสดงโดยอาจให้ฝึกซ้อมบ้างตามความจำเป็น

การเตรียมผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม
ผู้สอนควรเตรียมผู้ชมและทำความเข้าใจกับผู้ชมว่า การแสดงบทบาทสมมตินี้ จัดขึ้นมิใช่มุ่งที่ความสนุก แต่มุ่งที่จะให้เกิดการเรียนรู้เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงควรชมด้วยความสังเกต ผู้สอนควรให้คำแนะนำว่าควรสังเกตอะไรและควรบันทึกข้อมูลอย่างไร และผู้สอนอาจจัดทำแบบสังเกตการณ์ให้ผู้ชมใช้ในการสังเกต ด้วยก็ได้

ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีสอนโดยใช้บทบาทสมมติ
ข้อดี
1. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่น ได้เรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง
2. เป็นวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติและพฤติกรรมของตน
3. เป็นวิธีสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะในการเผชิญสถานการณ์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหา
4. เป็นวิธีสอนที่ช่วยให้การเรียนการสอนมีความใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริง
5. เป็นวิธีสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนมาก ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและการเรียนรู้มีความหมายสำหรับผู้เรียน เพราะข้อมูลมาจากผู้เรียนโดยตรง
ข้อจำกัด
1. เป็นวิธีสอนที่ใช้เวลามากพอสมควร
2. เป็นวิธีสอนที่อาศัยการเตรียมการและการจัดการอย่างรัดกุมหากจัดการไม่ดีพอ อาจเกิดความยุ่งยากสับสนขึ้นได้
3. เป็นวิธีสอนที่ต้องอาศัยความไวในการรับรู้ (sensitivity) ของผู้สอนหากผู้สอนขาดคุณสมบัตินี้ไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนบางคน และไม่ได้แก้ปัญหาแต่ต้นอาจเกิดเป็นปัญหาต่อเนื่องไปได้
4. เป็นการสอนที่ต้องอาศัยความสามารถของครูในการแก้ปัญหาเนื่องจากการแสดงของผู้เรียนอาจไม่เป็นไปตามความคาดหมายของผู้สอน ผู้สอนจะต้องสามารถแก้ปัญหาหรือปรับสถานการณ์และประเด็นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้
สรุป
บทบาทสมมติเป็นรูปแบบการเรียนการสอนอย่างหนึ่งที่ช่วยสะท้อนความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่อยู่ภายในของผู้เรียนออกมา ทำให้สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เปิดเผยออกมา และนำมาซึ่งการศึกษาทำความเข้าใจกันได้ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เกิดการเข้าใจในตนเอง ในขณะเดียวกันการที่ผู้เรียนสวมบทบาทของผู้อื่น ก็สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในความคิด ค่านิยม และพฤติกรรมของผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนเจตคติ ค่านิยม และพฤติกรรมของตน ให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม



อ้างอิง
http://www.learners.in.th/blog/virachai/259599
http://edweb.sdsu.edu/EET/
http://translate.google.co.th/?hl=th&tab=wT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น